11.7.50

“ความง่วง” คืออะไร
“ง่วง” (Drowsiness หรือ Sleepiness) เป็นเรื่องปกติ เป็นเรื่องธรรมชาติ ร่างกายต้องการการพักผ่อน สมองต้องการการนอนหลับ ร่างกายต้องการ 3 สิ่งครับคือ อาหาร น้ำ และการนอนหลับ คนเราสามารถจะตั้งใจที่จะอดน้ำและอดอาหารจนเสียชีวิตได้ แต่คนเราไม่สามารถตั้งใจที่จะไม่นอนหลับแล้วเสียชีวิตได้ (เช่นเดียวกับการกลั้นหายใจ) ถ้าเราอดนอนหรือสมองไม่ได้รับการนอนหลับสักระยะหนึ่ง สมองก็จะสั่งการให้หลับทันที เราจะง่วงมาก เราไม่สามารถที่จะฝืนได้เลย สัญญาณที่สมองสั่งให้ร่างกายพักผ่อนจะรุนแรงมาก ความง่วงแน่นอนคือ สัญญาณที่สมองสั่งมาว่าให้นอนได้แล้วครับ ร่างกายต้องการพักผ่อน

ทุกคนรู้ว่าง่วงคืออะไรครับ ถ้าทดลองอดนอนหรือนอนไม่หลับซักหนึ่งคืนก็จะรู้ว่าความง่วงคืออะไรในวันรุ่งขึ้นครับ การอดนอนชั่วคราว หรือ acute sleep deprivation ครับ จะมีอาการในผู้ใหญ่ตรงไปตรงมาครับ มีทั้งง่วงมาก ง่วงน้อยแตกต่างกันไป ผลกระทบของความง่วงก็ชัดเจน ความคิดอ่านไม่แล่น ความจำไม่ดี ผู้ใหญ่ก็หาทางแก้ไขโดยการดื่มกาแฟ หรือชา หรือหาทางงีบหลับ (nap) ตื่นมาก็พอจะแก้ไข หรือช่วยได้ ในเด็กก็มีอาการไม่แตกต่างจากผู้ใหญ่มากนัก ถ้าคืนไหนนอนดึก ดูละครตื่นมาอาการก็ชัดเจน แน่นอนทางแก้ไขก็คงต้องนอนให้พอเพียง หรือ นอนตอนบ่าบชดเชย ตื่นมาก็ปกติ การอดนอนชั่วคราว ปัญหาไม่มากครับ เราก็คงไม่ต้องมาพูดกันฉบับนี้ ปัญหาจะเกิดก็คือ บางรายจะมีความง่วงจะเล็กน้อยตลอดเวลา เกิดเป็นเวลานาน เกิดจากการ อดนอนเล็กน้อย ต่อเนื่องยาวนาน (prolonged partial sleep deprivation) หรือมีความผิดปกติบางประการทั้งร่างกาย และจิตใจที่ทำให้หลับไม่ได้ ปัญหาที่เกิดคือ เด็กจะมีความง่วงจะเล็กน้อยตลอดเวลาแต่ผู้ปกครอง หรือครูไม่ทราบ โดยเฉพาะเด็กเล็กที่มีอาการง่วงไม่มาก แต่เป็นมานาน พ่อแม่อาจไม่ทราบครับ หรือ ออกมาในแบบง่วงมากเกินปกติ หรือง่วงตลอดเวลา (excessive sleepiness) ซึ่งผิดปกติครับ อาการง่วงมากเกินไปทางการแพทย์เรียกว่า “hypersomnia” ครับ

10.7.50

ความง่วงเกิดจาก คุณภาพในการนอนไม่ดี (poor quality)และ/หรือ ได้รับการนอนไม่เพียงพอ (inadequate)

คนเราจะอยู่ในสองสภาวะเท่านั้นครับ คือตื่นและหลับ ระหว่างตื่น เราจะสะสมความ เหนื่อยล้าไว้ ในตอนกลางวัน เพื่อที่จะหลับได้ในตอนกลางคืน พูดไปก็เหมือนกับกำปั้นทุบดิน “เราง่วงก็เพื่อที่จะหลับให้ได้ดี และเราหลับก็เพื่อที่จะตื่นให้ได้สดชื่นในตอนเช้า” แล้วเราก็ง่วงใหม่เป็นวัฏจักรวนเวียนไปมา ทุกๆเช้า เราควรจะตื่นมาด้วยความสดชื่นครับ (fresh) การนอนที่ดีจะทำให้เรารู้สึกว่าเราได้ผักผ่อน หรือ restorative sleep

ความง่วงจะช่วยให้เราหลับได้ง่าย จะช่วยเปลี่ยนจากสภาวะตื่นเข้าสู่สภาวะหลับ ในสมองที่ปกติและมีสภาพที่การควบคุมสมดุลย์ต่างๆเป็นปกติดี จะมีปัจจัยหลัก 3 ประการที่ทำให้คนเราง่วงนอนครับ (ดูรูปประกอบ) ปัจจัยแรกคือ ระยะเวลาที่เราตื่นนอนมานานเท่าไร ขณะที่ตื่นสมองจะสะสมสารเคมีอะดีในซีน (adenosine) ในสมอง ยิ่งเราตื่นมานานหลายชั่วโมงสารเคมีก็จะมากทำให้เราง่วงนอนแต่เราก็ไม่หลับ เช่นในตอนบ่ายๆเราจะง่วง เพราะมีแรงต้านให้ตื่นจากนาฬิกาชีวภาพของเรา ดังนั้นปัจจัยที่สองคือ การทำงานของนาฬิกาชีวิตหรือนาฬิกาชีวภาพ (biological clock) เป็นตัวบอกว่าเราควรจะตื่นหรือหลับ ถ้าเราต้องตื่น นาฬิกาชีวภาพก็จะทำงานในโหมดตื่น คือออกแรงต้านความง่วงไว้ทำให้ตื่น แต่ถ้าเราต้องหลับ นาฬิกาชีวภาพก็จะทำงานในโหมดหลับ ออกแรงสนับสนุนการนอนหลับ การนอนหลับนั้นเป็นกระบวนการที่ active ครับไม่ใช่ passive ตามที่เราเข้าใจทั่วๆไป สมองยังคงทำงานตลอดเวลาในขณะหลับ แล้วนาฬิกาชีวภาพรู้ได้อย่างไรว่าจะต้องทำงานในโหมดหลับ หรือโหมดตื่น ก็อาศัยปัจจัยที่สามครับคือ ความมืดและความสว่างจากสิ่งแวดล้อมที่อาศัยสายตาเป็นตัวรับครับ ถ้าฟ้ามืด พระอาทิตย์ตกดิน ความมืดจะส่งสัญญาณให้นาฬิกาชีวภาพต้องทำงานในโหมดหลับครับ โดยสารเคมีเมลาโตนิน(melatonin)ในเลือดและในสมองที่สูงขึ้น ส่วนความสว่างจากแสงแดดตอนเช้าจะส่งสัญญาณให้นาฬิกาชีวภาพต้องทำงานในโหมดตื่นครับ โดยสารเคมี เมลาโตนินในเลือดและในสมองจะลดลง เพื่อให้การนอนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ การทำงานของนาฬิกาชีวภาพและความสว่างมืดต้องสัมพันธ์กันครับ 24 ชม. ของนาฬิกาชีวภาพในร่างกายต้องปรับเวลาให้ตรงกับ การหมุนของโลกรอบตัวเองทุก 24 ชม. ครับ (entrainment หรือ synchronization) นั่นคือเราควรตื่นมาพร้อมกับแสงแดด และนอนหลับพร้อมพระอาทิตย์ตกดิน