10.7.50

ความง่วงเกิดจาก คุณภาพในการนอนไม่ดี (poor quality)และ/หรือ ได้รับการนอนไม่เพียงพอ (inadequate)

คนเราจะอยู่ในสองสภาวะเท่านั้นครับ คือตื่นและหลับ ระหว่างตื่น เราจะสะสมความ เหนื่อยล้าไว้ ในตอนกลางวัน เพื่อที่จะหลับได้ในตอนกลางคืน พูดไปก็เหมือนกับกำปั้นทุบดิน “เราง่วงก็เพื่อที่จะหลับให้ได้ดี และเราหลับก็เพื่อที่จะตื่นให้ได้สดชื่นในตอนเช้า” แล้วเราก็ง่วงใหม่เป็นวัฏจักรวนเวียนไปมา ทุกๆเช้า เราควรจะตื่นมาด้วยความสดชื่นครับ (fresh) การนอนที่ดีจะทำให้เรารู้สึกว่าเราได้ผักผ่อน หรือ restorative sleep

ความง่วงจะช่วยให้เราหลับได้ง่าย จะช่วยเปลี่ยนจากสภาวะตื่นเข้าสู่สภาวะหลับ ในสมองที่ปกติและมีสภาพที่การควบคุมสมดุลย์ต่างๆเป็นปกติดี จะมีปัจจัยหลัก 3 ประการที่ทำให้คนเราง่วงนอนครับ (ดูรูปประกอบ) ปัจจัยแรกคือ ระยะเวลาที่เราตื่นนอนมานานเท่าไร ขณะที่ตื่นสมองจะสะสมสารเคมีอะดีในซีน (adenosine) ในสมอง ยิ่งเราตื่นมานานหลายชั่วโมงสารเคมีก็จะมากทำให้เราง่วงนอนแต่เราก็ไม่หลับ เช่นในตอนบ่ายๆเราจะง่วง เพราะมีแรงต้านให้ตื่นจากนาฬิกาชีวภาพของเรา ดังนั้นปัจจัยที่สองคือ การทำงานของนาฬิกาชีวิตหรือนาฬิกาชีวภาพ (biological clock) เป็นตัวบอกว่าเราควรจะตื่นหรือหลับ ถ้าเราต้องตื่น นาฬิกาชีวภาพก็จะทำงานในโหมดตื่น คือออกแรงต้านความง่วงไว้ทำให้ตื่น แต่ถ้าเราต้องหลับ นาฬิกาชีวภาพก็จะทำงานในโหมดหลับ ออกแรงสนับสนุนการนอนหลับ การนอนหลับนั้นเป็นกระบวนการที่ active ครับไม่ใช่ passive ตามที่เราเข้าใจทั่วๆไป สมองยังคงทำงานตลอดเวลาในขณะหลับ แล้วนาฬิกาชีวภาพรู้ได้อย่างไรว่าจะต้องทำงานในโหมดหลับ หรือโหมดตื่น ก็อาศัยปัจจัยที่สามครับคือ ความมืดและความสว่างจากสิ่งแวดล้อมที่อาศัยสายตาเป็นตัวรับครับ ถ้าฟ้ามืด พระอาทิตย์ตกดิน ความมืดจะส่งสัญญาณให้นาฬิกาชีวภาพต้องทำงานในโหมดหลับครับ โดยสารเคมีเมลาโตนิน(melatonin)ในเลือดและในสมองที่สูงขึ้น ส่วนความสว่างจากแสงแดดตอนเช้าจะส่งสัญญาณให้นาฬิกาชีวภาพต้องทำงานในโหมดตื่นครับ โดยสารเคมี เมลาโตนินในเลือดและในสมองจะลดลง เพื่อให้การนอนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ การทำงานของนาฬิกาชีวภาพและความสว่างมืดต้องสัมพันธ์กันครับ 24 ชม. ของนาฬิกาชีวภาพในร่างกายต้องปรับเวลาให้ตรงกับ การหมุนของโลกรอบตัวเองทุก 24 ชม. ครับ (entrainment หรือ synchronization) นั่นคือเราควรตื่นมาพร้อมกับแสงแดด และนอนหลับพร้อมพระอาทิตย์ตกดิน

ไม่มีความคิดเห็น: